**Green Gold** ยินดีต้อนรับทุกท่านที่มาเยี่ยมชม อ่านบทความ ตลอดจนร่วมเสนอแนะความเห็น และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันวิถีชุมชน วิถีแห่งภูมิปัญญาไทย เพื่อความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนแบบพอเพียงค่ะ**Green Gold**

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

บ้านนอกรำลึก ตอน ที่มา...ของ…‘เด็กบ้านนอก’ กับ **บ้านสวนยายจิ๋วนาตาพูน**


บ้านนอกรำลึก ตอน ที่มา...ของ…‘เด็กบ้านนอก
กับ
**บ้านสวนยายจิ๋วนาตาพูน**
สมัยก่อนเวลาใครถามว่า ปิดเทอมไปเที่ยวไหนมาจ๊ะ ดิฉันก็จะยิ้มตอบอย่างสุขใจไปว่า ไปบ้านนอกมาจ้ะ เพราะตอนนั้นดิฉันรู้แค่ว่าที่อื่นที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ คือบ้านนอกทั้งหมด คนบ้านนอก ของบ้านนอก ภาษาบ้านนอกดังนั้น บ้านปู่ย่ากับบ้านตายายที่ จ. ชัยนาท จึงเรียกว่า บ้านนอก แล้วดิฉันก็มักจะถูกเรียกว่าเป็น เด็กบ้านนอก เพราะติดสำเนียงเหน่อๆ ของคนบ้านนอกของย่าของยายมาด้วย และนี่...คือบทเริ่มต้นของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง...
เด็กบ้านนอก คอกนา คนนี้ ใช้ชีวิตในวัยเด็กตลอดช่วงปิดเทอมของทุกปีที่บ้านนอก อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เป็นแค่อำเภอเล็กๆ ที่เป็นทางผ่านไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ อย่างนครสวรรค์ อ.สรรคบุรี อยู่ติดกับ อ.สรรพยา/อินทร์บุรี/หันคา เป็นอำเภอที่เงียบสงบ ไม่มีอะไรมากไปกว่า ตื่นแต่เช้า หุงหากับข้าวกับปลา ใส่บาตร ไปทำนา หาปลา หาผัก หามาได้ก็แบ่งปันและแลกกันไปกันมาระหว่างบ้านใกล้เรือนเคียง ซึ่งเคียงกันจริงๆ จนหลังคาเรือนแทบจะเกยกันอยู่แล้ว สืบเนื่องจากแต่ละบ้านมีลูกมาก ก็เลยต้องขยายเรือนออกไปเรื่อยๆ สรรคบุรี เป็นอำเภอที่ไม่มีอะไรโดดเด่น นอกจากความภาคภูมิใจอย่างเดียวของคนทั้งอำเภอ นั่นก็คือ ขุนสรรค์ ที่ตั้งโดดเด่นอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอสรรคบุรี ซึ่งคงจะเก่าแก่น่าดู เพราะเรียกได้ว่า ดิฉันเห็นมาตั้งแต่เกิดแล้ว (ไมได้โม้!) และนี่...คือบทสรุปของอำเภอๆ หนึ่งของจังหวัดๆ หนึ่งของประเทศๆ หนึ่ง ประเทศไทย(จะเขียนทำไมเนี่ย!)
มาต่อกันดีกว่า....
...อยากจะบอกว่า ที่บ้านทำนาเป็นอาชีพหลัก พ่อบอกว่าพ่อเคยพาควายไปเลี้ยงแล้วทำควายหาย พ่อ (เป็นลูกคนที่ 3 จาก 12 ของย่า) ไม่ชอบทำนา อยากเรียนหนังสือ เลยแอบหนีขึ้นเรือโยงเข้ากรุงเทพฯ บ้านที่อยู่ติดแม่น้ำสายหนึ่งชื่อ แม่น้ำน้อยสมัยนั้นผู้คนใช้เรือและจักรยานในการสัญจรไปมา เรือโยงจะนำสินค้าจากในเมืองและเกลือ มาแลกกับข้าวสารของชาวนา ดิฉันเคยไปดูเขาแลกข้าวกับเกลือกันครั้งหนึ่ง เป็นเกลือเม็ดใหญ่ๆ ชาวบ้านจะแบกโอ่งแบกภาชนะต่างๆ ที่หากันได้ ไปใส่เกลือ แล้วก็ตกลงกับคนในเรือว่าจะให้เข้ากี่ถุง ไม่ค่อยรู้เรื่องหรอกค่ะ เห็นแค่ทั้งสองฝ่ายต่างพยักหน้ากัน เราก็ช่วยกันโกยของ อันที่จริงแล้วเด็กๆ อยากไปปีนเรือใหญ่ๆ เล่นต่างหาก แต่ถูกใช้ให้ขนก็ต้องขน...เอ่อ...ลืมเรื่องพ่อไปเลย!...สรุปว่าพ่อแอบขึ้นเรือโยงนั่นแหละหนีเข้ากรุง มาพับถุงขาย เรียนหนังสือจนจบ แล้วพ่อก็ได้รับราชการ และเป็นข้าราชการไปจนตลอดชีวิตของพ่อ...เป็นเรื่องราวคร่าวๆ (คร่าวมากๆ) ของพ่อที่ดิฉันได้รับรู้จากปากของแม่ จนทุกวันนี้ ดิฉันก็ยังรู้เท่านี้เองที่เกี่ยวกับพ่อ...
กลับมาบ้านนอกกันเถอะ...
ที่บ้านนอก...ชาวนาก็เหมือนกับชาวเมือง ตรงที่ต้องเดินทางออกไปทำงานนอกบ้านตั้งแต่เช้ามืดเหมือนกัน เพราะแต่ละบ้านจะมีนาอยู่ไกลออกไป บางทีมีบ้านอยู่ตำบลนี้แต่มีนาอยู่ตำบลโน้นก็มี แต่ในหมู่บ้านใกล้เรือนเคียงกันก็มักจะมีที่นาติดๆ กัน เอ...หรือเพราะมีที่นาติดกันก็เลยมาสร้างบ้านเรือนใกล้ๆ กันก็ไม่รู้แฮะ! ไม่เคยถามใครสักที เดี๋ยวคราวหน้าจะไปถามตาพูนดู (ตาพูนเป็นใคร...ต้องติดตามตอนต่อไปค่ะ) เอาเป็นว่าชาวนาก็จะมีก๊วนของตัวเอง เวลาทำนาก็จะนัดกันไปทั้งก๊วนไปช่วยกันทำ วันนี้ทำนาตาพูน ตาโฮกก็ต้องมา วันพรุ่งนี้ทำนาตาโฮก ตาพูนก็ต้องไป วนกันไปจนครบนาของทุกคนในก๊วน จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องทางเข้าน้ำ วิดน้ำเข้าวิดน้ำออกก็จะสอดคล้องกันด้วย ไม่ใช่คนหนึ่งจะหว่านปุ๋ยต้องเอาน้ำออก อีกคนข้าวตั้งท้องจะเอาน้ำเข้า ก็ตีกันตาย อดตายทั้งคู่ เสร็จแล้วข้าวก็จะสุกไล่ๆ กันไป ก็พอดีเกี่ยวข้าวนาแรกเสร็จ นาต่อไปก็สุกพร้อมเกี่ยวพอดี ก็ทยอยสุกทยอยเกี่ยวไปเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มหมักดิน เริ่มไถ หว่าน ต่อๆ กันไป...นี่แหละ ชีวิตชาวนา ในสายตาของเด็กบ้านนอก ที่ต้องนั่งเฝ้าปิ่นโตข้าวอยู่บนเถียงนากับหมาอีกตัว แล้วรู้มั้ย...ถ้าเด็กบ้านนอกปวดอึปวดฉี่กลางทุ่งนาขึ้นมา...เด็กบ้านนอกจะทำไง (ไปคิดกันเอาเองบ้างเถอะนะ อย่าให้บอกหมดทุกเรื่องเลย ได้โปรด!)
ชักจะยาวเกินไปแล้ว...
จบตอน ที่มา...ของเด็กบ้านนอกแต่เพียงเท่านี้ (ดีกว่า)
ป.ล. แล้วบ้านสวนยายจิ๋วนาตาพูนอยู่ตรงไหนล่ะ!?! (โปรดติดตามตอนต่อไป...จากผู้เขียน)
โปรดติดตาม บ้านนอกรำลึก ตอนหน้า
เสนอตอน
บ้านสวนยายจิ๋วนาตาพูน (ซะที!)